ผู้บุกเบิกไดโนเสาร์ไทย และ ไดโนเสาร์ทั้งหมดในประเทศไทย

ผู้บุกเบิกไดโนเสาร์ไทย

ผู้บุกเบิกไดโนเสาร์ไทย คือ ดร.วราวุธ สุธีธร นักบรรพชีวินคนแรกของประเทศไทย และเป็นผู้บุกเบิกการศึกษาบรรพชีวินวิทยาด้านไดโนเสาร์ของไทย วิทยาศาสตร์รอบโลก ในบทความนี้ พาตะลอน จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จัก ไดโนเสาร์ไทย พร้อมประวัติศาสตร์อันน่าสนใจ

ดร.วราวุธ สุธีธร ผู้บุกเบิกไดโนเสาร์ไทย

ผู้บุกเบิกไดโนเสาร์ไทย ได้กล่าวว่า “นักบรรพชีวินที่ดี ต้องมีความอดทน เพราะเป็นงานที่กินระยะเวลายาวนานกว่าจะเห็นผล และต้องอึดเวลาลงพื้นที่ ที่สำคัญต้องรู้จักแสวงหาความรู้ใหม่อยู่ตลอดเวลา”

ประวัติของ ดร.วราวุธ สุธีธร ผู้บุกเบิกไดโนเสาร์ไทย

ผู้บุกเบิกไดโนเสาร์ไทย

ผู้บุกเบิกไดโนเสาร์ไทย เข้ารับราชการที่กรมทรัพยากรธรณีเมื่อปี พ.ศ.2517 มีภารกิจในการสำรวจ และทำแผนที่ธรณีวิทยา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ชิ้นแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2519 ที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น

ก่อนไปศึกษาต่อเฉพาะทางด้านไดโนเสาร์ที่ประเทศฝรั่งเศส และนำความรู้กลับมาจัดตั้งทีมสำรวจไดโนเสาร์ในประเทศไทย ดร.วราวุธ สุธีธร ยังได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ร่วมยุคเมโสโซอิคประเภทอื่นๆ ได้แก่ ฉลามน้ำจืด ปลากระดูกแข็ง และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก

ผู้บุกเบิกไดโนเสาร์ไทย กับการสำรวจดินแดนไดโนเสาร์ในไทย

ประเทศไทยเป็นแหล่งฟอสซิลไดโนเสาร์ แหล่งใหญ่ของโลก คณะสำรวจฝรั่งเศส และผู้เชี่ยวชาญไทย สำรวจพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นภูเขาหินเก่าอายุ 110-200 ล้านปี แหล่งที่ค้นพบมากที่สุดคือ วัดสักกะวัน จ.กาฬสินธุ์

ปัจจุบันเป็นที่ตั้งชั่วคราวของคณะสำรวจไดโนเสาร์ กรมทรัพยากรธรณี เก็บรวบรวมกระดูกไดโนเสาร์ ที่ค้นพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด คาดว่ายังจะค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ๆในเทือกเขาที่ราบสูงแห่งนี้อีกมาก

การบุกเบิกไดโนเสาร์ของไทย และ รายชื่อไดโนเสาร์ไทย

การค้นพบไดโนเสาร์ครั้งแรกของไทย เริ่มเมื่อปี พ.ศ.2519 โดยคณะสำรวจแร่ยูเรเนียมของกรมทรัพยากรธรณี เป็นไดโนเสาร์ซอโรพอด ในเขตอุทยานแห่งชาติภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ความยาว 15 เมตร เป็นไดโนเสาร์กินพืชเมื่อประมาณ 144-165 ล้านปีก่อน

ในปี พ.ศ.2562 ทีมนักบรรพชีวินวิทยา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านไดโนเสาร์จาก พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ฟุกุอิ ประเทศญี่ปุ่น ค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์เทโรพอด ในชั้นหินอายุเก่าแก่กว่า 115 ล้านปี พบสยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ ที่เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อสปีชีส์ใหม่ ในสกุลคาร์คาโรดอนโทซอรัส

ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (Phuwiangosaurus sirindhornae)

ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน

พบที่จังหวัดขอนแก่น เป็นไดโนเสาร์กินพืช เดิน 4 ขา ความยาวประมาณ 15-20 เมตร คอและหางยาว มักอยู่รวมกันเป็นฝูง เป็นไดโนเสาร์สกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเซียสตอนต้น ประมาณ 130 ล้านปีก่อน

ตั้งชื่อชนิดเพื่อถวายพระเกียรติแด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงสนพระทัยงานด้านซากดึกดำบรรพ์

สยามโมซอรัส สุธีธรนิ (Siamosaurur suteethorni)

สยามโมซอรัส สุธีธรนิ

พบที่จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ และอีกหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ชนิดแรกที่พบในประเทศไทย เดิน 2 ขามีความยาวประมาณ 7 เมตร ฟันมีลักษณะเป็นทรงกรวย มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเซียสตอนต้น ประมาณ 130 ล้านปีก่อน

ตั้งชื่อชนิดเพื่อเป็นเกียรติแก่ ดร.วราวุธ สุธีธร ผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการสำรวจไดโนเสาร์ในประเทศไทย

ชิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ (Psittacosaurus sattayaraki)

ชิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ

พบที่จังหวัดชัยภูมิ และขอนแก่น เป็นไดโนเสาร์กินพืชขนาดเล็ก ความยาวประมาณ 1-1.5 เมตร จัดอยู่ในกลุ่มไดโนเสาร์ปากนกแก้ว มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเซียสตอนต้นเมื่อประมาณ 100 ล้านปีก่อน ตั้งชื่อชนิดเพื่อเป็นเกียรติแก่ นายนเรศ สัตยารักษ์ ผู้ค้นพบซากดึกดำบรรพ์นี้เป็นคนแรก

สยามโมไทรัสนัส อีสานเอนซิส (Siamotyrannus isanensis)

สยามโมไทรัสนัส อีสานเอนซิส

พบที่จังหวัดขอนแก่นในสภาพสมบูรณ์ เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่เดิน 2 ขา ความยาวประมาณ 6.5เมตร มีขาหลังที่ใหญ่และแข็งแรง มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเซียสตอนต้นเมื่อประมาณ 130 ล้านปีก่อน ตั้งชื่อตามชื่อสถานที่พบคือประเทศไทย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อิสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชิ (Isanosaurus attavipachi)

อิสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชิ

พบที่จังหวัดชัยภูมิ เป็นไดโนเสาร์กินพืชที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในไทย เดินสี่ขา มีความยาว 12-16เมตร มีชีวิตอยู่ในยุคไทรแอสสิกตอนปลายประมาณ 210 ล้านปีที่แล้ว ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่นายปรีชา อรรถวิภัชน์ อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี

กินรีมิมัส ขอนแก่นเอนซิส (Kinnareemimus khonkaenensis)

กินรีมิมัส ขอนแก่นเอนซิส

พบที่จังหวัดขอนแก่น เป็นไดโนเสาร์นกกระจอกเทศ วิ่งเร็วปราดเปรียวไม่มีฟัน กินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร ความยาวประมาณ 1-2เมตร มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเซียสตอนต้นเมื่อประมาณ 130ล้านปีก่อน ตั้งชื่อสกุลตามสัตว์ในเทพนิยายของไทย และสถานที่พบ

ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ (Ratchasimasaurus suranareae)

ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ

พบที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นไดโนเสาร์กินพืชจำพวกอิกัวโนดอน ที่มีกระดูกสะโพกแบบนก พบตัวอย่างกระดูกขากรรไกรล่างซ้ายโดยฟันที่หลุดออกไปหมด ในหมวดหินโคกกรวด มีอายุในช่วงยุคครีเทเซียสตอนต้น เมื่อประมาณ 100ล้านปีก่อน ตั้งชื่อตามสถานที่พบ และเพื่อเป็นเกียรติแก่ ท้าวสุรนารี วีรสตรีของจังหวัดนครราชสีมา

สยามโมดอน นิ่มงามมิ (Siamodon mimngami)

สยามโมดอน นิ่มงามมิ

พบที่จังหวัดนครราชสีมา บ้านสะพานหิน เป็นไดโนเสาร์ออร์นิโธพอตสกุลใหม่ ชนิดใหม่ของโลก มีอายุอยู่ในช่วง 100 ล้านปีก่อน ที่มาของสกุลสยามโมดอน มาจากสยาม ชื่อเดิมของประเทศไทย odoust เป็นภาษากรีกแปลว่าฟัน และตั้งชื่อชนิดเพื่อเป็นเกียรติแก่ นายวิทยา นิ่มงาม ที่มอบตัวอย่างให้เพื่อการศึกษา

สิรินธรนา โคราชเอนซิส (Sirindhorna khoratensis)

สิรินธรนา โคราชเอนซิส

พบในจังหวัดนครราชสีมา เป็นไดโนเสาร์กินพืชจำพวกอิกัวโนดอนสูงประมาณ 2เมตร ยาว 6เมตร มีชีวิตอยู่ในช่วงต้นยุคครีเทเซียส ประมาณ 100ล้านปีก่อน ขุดค้นพบกระดูกขากรรไกรบนและล่าง ตั้งชื่อสกุลว่า สิรินธรนา เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และตั้งชื่อโคราชเอนซิส ตามจังหวัดที่ค้นพบ

ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ (Phuwiangvenator yaemniyomi)

ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ

พบที่อุทยานแห่งชาติภูเวียงจังหวัดขอนแก่น เป็นไดโนเสาร์เทอโรพอดขนาดกลาง มีลำตัวยาวประมาณ 6เมตร กรงเล็บใหญ่วิ่งเร็ว ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่นายสุธรรม แย้มนิยม ผู้ค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ของไทยเป็นคนแรก

สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ (Siamraptor suwati)

สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ

พบในจังหวัดนครราชสีมา เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อสายพันธุ์ใหม่ขนาดใหญ่ของโลก ลำตัวยาว 8 เมตร ตั้งชื่อสกุลตามชื่อเดิมคือสยามแห่งประเทศไทย และตั้งชื่อชนิดเป็นเกียรติแก่นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และอดีตรองนายกรัฐมนตรี

วายุแรพเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส (Vayuraptor nongbualamphuensis)

วายุแรพเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส

พบที่อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ จังหวัดหนองบัวลำพู โดยนายพลาเดช ศรีสุข เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัย และการศึกษาบรรพชีวิน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นไดโนเสาร์ที่มีความยาว 4-4.5เมตร อายุ130ล้านปี ชื่อวายุตั้งตามเทพเจ้าฮินดู ที่แปลว่าลม และชื่อชนิดตามสถานที่ที่พบ

มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส (Minimocursor phunoiensis)

มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส

พบที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นไดโนเสาร์ที่มีขนาดลำตัวยาว 0.6 เมตร จัดอยู่ในกลุ่มนีออร์นิธิสเชียน หรือไดโนเสาร์กินพืชขนาดเล็ก

สรุป ผู้บุกเบิกไดโนเสาร์ไทย

ผู้บุกเบิกไดโนเสาร์ไทย เป็นบุคคลสำคัญด้านวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับบรรพชีวินวิทยา ที่ช่วยบุกเบิกการค้นพบครั้งสำคัญในประเทศไทย เพื่อเกิดการต่อยอด และความก้าวหน้าทางด้านการค้นพบไดโนเสาร์ สายพันธุ์ของไทยใหม่ๆในอนาคต

Facebook
Twitter
Telegram
LinkedIn
ข้อมูลผู้เขียน
Picture of Knowledge Hunter
Knowledge Hunter

แหล่งอ้างอิง