ชนเผ่าคาซาร์ ชนเผ่าที่สิบสาม แห่งอิสราเอล

ชนเผ่าคาซาร์

ชนเผ่าคาซาร์ ชนเผ่าแห่งแนวชายฝั่งทะเลดำ เรื่องราว ประวัติศาสตร์คนเถื่อน ที่สร้างอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ และโลดแล่นอยู่กว่า 300 ปี พาตะลอน ขอนำเสนอหนึ่งในชนเผ่าที่มีประวัติศาสตร์ อันน่าสนใจมากที่สุดอีกหนึ่งชนเผ่า

ชนเผ่าคาซาร์ คือใคร ?

นักประวัติศาสตร์คาดการณ์ว่า ชนเผ่าคาซาร์ น่าจะมาจากกลุ่มชนเผ่าเตอร์กิค หรือเกิดจากชนเผ่าพื้นเมืองในแถบที่ราบสูงคอเคซัส และแนวชายฝั่งทะเลดำ ที่อยู่ภายใต้การปกครองของชนเผ่าเตอร์กิค

ข้อมูลทั่วไปของ ชนเผ่าคาซาร์

ชนเผ่าคาซาร์แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ

  1. ‘คารา-คาซาร์’ (Qara-Khazar) หรือ ‘คาซาร์ดำ’ (Black Khazars) ที่มีผิวสีคล้ำ 
  2. ‘อัค-คาซาร์’ (Aq-Khazar) หรือ ‘คาซาร์ขาว’ (White Khazars) ที่มีผิวสีขาวซีด

วัฒนธรรมและการปกครองของชนเผ่าคาซาร์

ชนเผ่าคาซาร์

ชนเผ่าคาซาร์ยุคแรก ยึดถือในลัทธิบูชาผีฟ้าเท็งกรี โดยมีโครงสร้างการปกครองแบบประมุขสูงสุด คือจอมข่าน หรือ คาฆาน และเหล่าขุนศึกตระกูลใหญ่ต่างๆ มีฐานะเป็น ‘เบ็ก’ (Bek) ซึ่งมีการสืบทอดตำแหน่งภายในวงศ์ตระกูล

จุดเริ่มต้น พันธมิตรที่เหนียวแน่นของคาซาร์

ช่วงที่คาซาร์ก่อตั้งอาณาจักรใหม่ มีการสืบทอดนโยบายการเป็นพันธมิตรกับจักรวรรดิไบแซนไทน์ ช่วงปี ค.ศ. 627-628 คาซาร์ส่งทหารม้านับหมื่นนาย ไปช่วยขับไล่พวกเปอร์เซียออกจากอาร์เมเนีย ของจักรวรรดิไบแซนไทน์ จึงกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นพันธมิตรที่แข็งแกร่ง

ภัยคุกคามต่อ ชนเผ่าคาซาร์ และจักรวรรดิไบแซนไทน์

กองทัพจากรัฐกาหลิบ ที่เป็นชาวอาหรับ ภายใต้หลักศรัทธาใหม่คือ ‘ศาสนาอิสลาม’ ต้องการโจมตีศาสนาคริสต์ ที่ไบแซนไทน์ ที่ถือเป็นปราการสำคัญของโลกคริสต์ศาสนาทางตะวันออก

การบุกโจมตีจากกองทัพกาหลิบ

ค.ศ. 645 กองทัพจากรัฐกาหลิบบุกเข้าโจมตีอาร์เมเนีย โดยกองทัพไบแซนไทน์ และกองทัพจากคาซาร์ พยายามต้านเอาไว้ แต่ไม่สำเร็จ จนต้องถอยทัพ ปล่อยให้กองทัพกาหลิบ เข้ายึดอาร์เมเนีย ของจักรวรรดิไบแซนไทน์ในที่สุด

ค.ศ. 652 กองทัพกาหลิบ บุกเข้าโจมตีจักรวรรดิไบแซนไทน์ และอาณาจักรคาซาร์พร้อมกัน โดยเข้าปิดล้อมกรุงบาลันจาร์ของคาซาร์ แต่ถูกทางคาซาร์ขับไล่ออกไปทางฝั่งเหนือของคอเคซัส ทางด้านกองทัพกาหลิบที่บุกจักรวรรดิไบแซนไทน์ ก็ได้พ่ายแพ้จนต้องล่าถอยเช่นเดียวกัน

การขยายดินแดนของชนเผ่าคาซาร์

ชนเผ่าคาซาร์

ค.ศ. 661 ชนเผ่าคาซาร์ ได้เริ่มทำศึกขยายดินแดน เข้าไปยังแถบราบลุ่มแม่น้ำโวลกาทางเหนือ และรุกคืบเข้าไปสู่เขตราบลุ่มแม่น้ำดนีปเปอร์ ที่ปกครองโดย ชนเผ่าบุลการ์ และพวกอูงการี หรือ ชนเผ่าแมกยาร์ บางส่วนที่แยกตัวออกมาตั้งอาณาจักรอิสระ

ผลจากการเข้ายึดครองดินแดนนี้ ทำให้ชนเผ่าคาซาร์กลายมาเป็นอาณาจักรอนารยชน ที่ทรงอำนาจที่สุดในดินแดนแถบทุ่งสเตปป์แห่งชายฝั่งทะเลดำ

การตอบโต้กลุ่มอาหรับ

ค.ศ. 683-685 กองทัพคาซาร์ยกทัพลงใต้เข้าปล้นสะดม เผาทำลายหัวเมืองตามแนวชายแดนของแคว้นอาร์เมเนีย ที่ถูกอาหรับยึดไปก่อนหน้านี้ ทางฝ่ายอาหรับจึงพยายามสร้างป้อมปราการ และเสริมกำลังตามแนวชายแดนเพิ่มมากขึ้น

ค.ศ. 720 คาซาร์ทวีความรุนแรงในการโจมตีอาหรับ ส่วนอาหรับก็ตอบโต้จนสามารถยกทัพไปยึดกรุงบาลันจาร์ได้สำเร็จ ถัดมา ค.ศ. 730 เจ้าชายบาร์จิค (Barjik) แห่งคาซาร์ ระดมกองทัพครั้งใหญ่บุกโจมตีอาร์เมเนีย จากนั้นบุกตะลุยไปถึงอาเซอร์ไบจาน (Azer-baijan)

จากนั้นก็บุกไปต่อที่ทางตอนเหนือของอิรัก กับอิหร่าน การรุกรานครั้งนี้ของคาซาร์ นับเป็นการจู่โจมอย่างเต็มรูปแบบครั้งแรกในประวัติศาสตร์แห่งรัฐกาหลิบ หรือจักรวรรดิอาหรับ แม้ว่าทางอาหรับจะส่งทัพใหญ่จากซีเรียขึ้นมาช่วย แต่ก็ถูกคาซาร์สังหารจนหมด

การเผยแผ่ศาสนาในคาซาร์

ตั้งแต่ ค.ศ. 737 เป็นต้นมา ทางจักรวรรดิไบแซนไทน์ได้ส่งคณะบาทหลวงนิกายออร์โธดอกซ์ตะวันออก (Eastern Orthodox Church) ไปเผยแผ่ศาสนาในคาซาร์ ส่วนทางอาหรับ ก็ส่งทูตเพื่อเชื้อเชิญคาซาร์ มาเข้ารีตอิสลามด้วยเช่นกัน

คาซาร์ยังคงรักษาหลักศรัทธาดั้งเดิม คือการบูชาผีฟ้า ก่อนที่ต่อมา ในสมัยของ ‘บูลานข่าน’ (Bulan Khan) ตระหนักได้ว่าการเลือกนับถือศาสนาของฝ่ายใด ก็จะทำให้เกิดความไม่พอใจต่อฝ่ายตรงข้าม จึงตัดสินใจยอมรับศาสนายูดาย ของชาวยิวแทน เพราะแทบจะไม่มีอิทธิพลทางการเมือง ในภูมิภาคนั้น

ชาวยิวในดินแดนของคาซาร์

การขยายดินแดนของชนเผ่าคาซาร์

ชาวยิวได้อพยพขึ้นเหนือ มาจากการรุกรานของชาวโรมันในอดีต และถูกบีบบังคับให้หันมานับถือศาสนาคริสต์ ชาวยิวที่ไม่ต้องการเปลี่ยนศาสนา จึงอพยพมาตั้งถิ่นฐานในแถบทะเลดำ ก่อนหน้าชนเผ่าคาซาร์จะเข้ามายึดครองภายหลัง ชาวยิวจึงได้รับความคุ้มครองจากชนเผ่าคาซาร์ และเป็นเหตุผลที่คาซาร์เลือกที่จะรับศาสนายูดายของชาวยิวมาแทน

เวลาต่อมาภายหลังจากการเลือกนับถือศาสนายูดาย ชาวยิวต่างอพยพเข้ามาอาศัย และตั้งถิ่นฐานในคาซาร์เป็นจำนวนมาก กลุ่มชาวยิวกลายมาเป็นกำลังสำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมกับสร้างโครงข่ายทางการค้า จึงทำให้คาซาร์กลายเป็นจุดศูนย์กลางแห่งการส่งออกสินค้า ไปตามเส้นทางการค้าทั่วโลก

เพราะเหตุนั้น ชาวคาซาร์ ก็ถูกเรียกว่าเป็นชนเผ่าที่สิบสาม แห่งอิสราเอล จนเกิดข่าวลือในหมู่ชาวยิวที่อาศัยในฝั่งยุโรปว่า แท้จริงแล้วชาวคาซาร์ มีบรรพบุรุษสืบเชื้อสายมาจาก 12 ชนเผ่าแห่งอิสราเอลโบราณเหมือนกัน

การเจริญสัมพันธไมตรีของอาหรับต่อคาซาร์

ค.ศ. 750 รัฐกาหริบหันมาเจริญสัมพันธไมตรีกับคาซาร์ โดยกาหลิบอัล-มันซูร์ (al-Mansur) ได้ร้องขอพระธิดาคาฆานบาฆาตูร์จากคาซาร์ (Baghaturs) มาเป็นชายา แต่ในปี ค.ศ. 759 หลังจากที่ทั้ง 2 อภิเษกสมรสได้เพียง 2 ปี พระชายาจากคาซาร์ก็สิ้นพระชนม์อย่างเป็นปริศนา

ทำให้บาฆาตูร์ข่านแห่งคาซาร์ยกทัพลงมา โจมตีแคว้นอาร์เมเนียอย่างรุนแรงอีกครั้ง จนรัฐอาหรับต้องเผชิญกับการปล้นสะดมของพวกคาซาร์ไปอีกหลาย 10 ปี นับจากเหตุการณ์นั้น

ภัยคุกคาม ที่คืบคลานสู่อาณาจักรคาซาร์

ภัยคุกคามของชนเผ่าคาซาร์

อาณาจักรคาซาร์ กลายเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ในเขตยูเรเซียตะวันออกกว่า 2 ศตวรรษ แต่แล้วก็ถูกชนเผ่าอูงกรี หรือพวกแมกยาร์ทั้ง 7 ตระกูล ที่แยกตัวเป็นอิสระจากอาณาจักรคาซาร์ ปล้นสะดมตามแนวชายแดนตะวันตกอย่างรุนแรง จนต้องเสียดินแดนในที่ราบลุ่มแม่น้ำดนีปเปอร์ และแหลมไครเมียไป

ศตวรรษที่ 9-10 อาณาจักรคาซาร์ถูกชาวไวกิ้ง (Vikings) จากดินแดนก็อทแลนด์ (Gotland) ในสวีเดน อพยพลงมาตั้งอาณาจักรอิสระในดินแดนทางเหนือของรัสเซีย โดยค่อยๆรุกคืบเข้ามาปล้นหัวเมืองต่างๆ จนสามารถเข้ายึดครองดินแดนส่วนใหญ่ในรัสเซีย และยูเครน ที่เป็นดินแดนของคาซาร์ พร้อมกับสถาปนาเมืองหลวงแห่งใหม่ของตนที่กรุงเคียฟ (Kiev/Kyiv)

ค.ศ. 969 กองทัพไวกิ้งแห่งเคียฟ ภายใต้การนำของ ‘สวีอาโตสลาฟที่ 1’ (Sviatoslav I) ผนึกกำลังกับ ชนเผ่าเพเชเน็ค (Pechenegs) เข้ายึดกรุงเอทิล และปิดฉากอาณาจักรคาซาร์ ที่เคยยิ่งใหญ่มายาวนานกว่า 300 ปีลงในที่สุด

บทสรุปของชนเผ่าคาซาร์

ชนเผ่าคาซาร์ ที่ยังหลงเหลืออยู่บางส่วน พยายามหันไปนับถือศาสนาอิสลาม เพื่อหวังให้อิสลามเข้ามาขับไล่กองทัพไวกิ้งนี้ออกไป จนถึงช่วงศตวรรษที่ 13 พวกมองโกลได้ทำสงครามมาจนถึงแนวทะเลสาบแคสเปียน ได้กวาดล้างชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มต่างๆไปจนหมด จนนามแห่งคาซาร์ ผู้สร้างอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ก็ค่อยๆเลือนหาย จากหน้าประวัติศาสตร์ไปในที่สุด

Facebook
Twitter
Telegram
LinkedIn
ข้อมูลผู้เขียน
Picture of Knowledge Hunter
Knowledge Hunter

แหล่งอ้างอิง