ชนเผ่าบุลการ์ มัจจุราชแห่งบอลข่าน

ชนเผ่าบุลการ์

ชนเผ่าบุลการ์ (Bulgars) หรือ บุลกาเรีย (Bulgaria) ประวัติศาสตร์คนเถื่อน ของชนเผ่าหนึ่งที่เข้ามาเรืองอำนาจ และมีบทบาทในดินแดนบอลข่าน พาตะลอน จะพาไปรู้จักชนเผ่าบุลการ์ ทหารม้ามัจจุราช ที่ทำให้จักรวรรดิไบแซนไทน์ ต้องสะพรึงหลายต่อหลายครั้ง

ชนเผ่าบุลการ์ คือใคร ?

ชนเผ่าบุลการ์ คือกลุ่มคนเร่ร่อน เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชนเผ่าเตอร์กิค ที่เรียกว่า โอโนเกอร์ (Onogurs) เกิดจากการรวมตัวของนักรบเตอร์กิค 10 ตระกูล ที่ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ในทุ่งสเตปป์แห่งโวลกา ตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 5

ข้อมูลทั่วไปของ ชนเผ่าบุลการ์

ชนเผ่าบุลการ์
  • ชื่อเรียก : ชนเผ่าบุลการ์ (Bulgars) หรือ บุลกาเรีย (Bulgaria)
  • เชื้อสาย : ชนเผ่าเร่ร่อนเชื้อสายเตอร์กิค
  • ที่มาของชื่อ : คำว่าบุลการ์มาจากภาษาโปรโต-เตอร์กิค หรือภาษาเตอร์กิคโบราณว่า ‘บุลกา’ (Bulga-) ที่มีความหมายว่า ‘ผสม’ เกิดจากการผสมผสานของชนเผ่าพื้นเมืองหลายกลุ่ม

จุดเริ่มต้น และการสถาปนาอาณาจักรแห่งแรก

ค.ศ. 632 ผู้นำชาวอูติเกอร์นามว่า ‘คูบรัต’ (Kubrat) ได้แยกตัวออกมาจากราชสำนักแห่งตระกูล อาซือนา ที่ก่อนหน้านั้นเป็นกลุ่มที่รวมชนเผ่าต่างๆ โดยคูบรัตได้สถาปนาอาณาจักรแห่งแรกของ ชาวบุลการ์ ขึ้นอย่างเป็นทางการ นักประวัติศาสตร์รุ่นหลังเรียกว่า มหาอาณาจักรบุลกาเรียโบราณ (Old Great Bulgaria)

ขณะนั้น จักรวรรดิไบแซนไทน์ พยายามเจริญสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรบุลกาเรียโบราณ โดยต้องการเป็นพันธมิตร เนื่องจากจักรวรรดิไบแซนไทน์ กำลังเผชิญภัยคุกคามจากอาณาจักรอะวาร์

ประวัติศาสตร์ ชนเผ่าบุลการ์

ค.ศ. 668 หลังจากที่คูบรัต ผู้สถาปนาอาณาจักรบุลกาเรียโบราณ ได้เสียชีวิตลง ทำให้อาณาจักรบุลกาเรียโบราณ ก็ถึงคราวล่มสลายตาม เนื่องจากการแย่งชิงอำนาจ และการถูกคุกคามจากชนเผ่าคาซาร์ ชนเผ่าบุลการ์ในขณะนั้นจึงแยกตัวออกเป็นหลายกลุ่มย่อยดังนี้

  1. กลุ่มบุลการ์ดำ (Black Bulgars) คือ ชนเผ่าบุลการ์ ที่ยอมเข้าร่วมกับอาณาจักรคาซาร์
  2. ชนเผ่ามรอยยอร์ (Magyarok) หรือ ชนเผ่าแมกยาร์ (Magyar) คือ ชนเผ่าบุลการ์ ที่อพยพลงมาจากเทือกเขาอูราลในรัสเซียตะวันออก และไปรวมกลุ่มกับ ชนเผ่าอูราลิค
  3. ชนเผ่าโวลกา-บุลการ์ (Volga-Bulgars) คือชนเผ่าบุลการ์ที่ได้หลบหนีการคุกคามของพวกคาซาร์ ด้วยการอพยพขึ้นเหนือไปตั้งถิ่นฐานแห่งใหม่ ที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโวลกา และกามา (Kama) บริเวณตอนกลางของรัสเซีย
  4. กลุ่มที่เข้าไปเป็นทหารรับจ้างในอิตาลี และในทัพไบแซนไทน์
  5. กลุ่มกองกำลัง ‘อัสปารุกห์’ (Asparukh) คือชนเผ่าบุลการ์ที่อพยพไปทางตะวันตก และได้เข้ายึดดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำดานูบ กับแคว้นซีเธียน้อย (Lesser Scythian) บริเวณที่กั้นกลางระหว่างเทือกเขาคาร์เปเธียน และแนวชายฝั่งทะเลดำด้านตะวันตกในปี ค.ศ. 679

กลุ่มกองกำลังอัสปารุกห์ ผู้ดำเนินเรื่องราวของชนเผ่าบุลการ์

ชนเผ่าบุลการ์

การเข้าไปยึดครองดินแดนดังกล่าว ที่เป็นเขตปกครองของพวกอะวาร์ จึงทำให้ถูกตอบโต้ และขับไล่อย่างรุนแรง กลุ่มกองกำลังอัสปารุกห์จึงอพยพเข้ายึดครองแคว้นโมเอเซีย (Moesia) ที่อยู่พรมแดนระหว่างจักรวรรดิไบแซนไทน์

จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 4 (Constantine IV) จึงยกทัพออกมาขับไล่ กลุ่มกองกำลังอัสปารุกห์ โดยหวังว่าจะบดขยี้กองทัพชนเผ่าบุลการ์นี้ หรือกลุ่มกองกำลังอัสปารุกห์ ให้ย่อยยับในปี ค.ศ. 680 แต่จักรพรรดิ ต้องมาเจอกับอาการประชวรอย่างหนัก จึงทำให้เหล่าทหาร เสียขวัญกำลังใจเป็นอย่างมาก

เมื่ออัสปารุกห์ได้ทราบข่าว จึงฉวยโอกาสบุกโจมตีกองทัพไบแซนไทน์ จนได้รับชัยชนะครั้งใหญ่ ในยุทธการอองกัล (Battle of Ongal) ทำให้ราชสำนักแห่งคอนสแตนติโนเปิลขอเจรจาสงบศึก และยอมรับในอำนาจการปกครองของชาวบุลการ์กลุ่มนี้ ในดินแดนแถบโมเอเซีย จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘จักรวรรดิบุลกาเรีย’ (Bulgarian Empire) ในปี ค.ศ. 681

การเริ่มต้นทวงคืนดินแดนของไบแซนไทน์

ในเวลาต่อมา ‘จักรพรรดิจัสติเนียนที่ 2’ (Justianian II) ต้องการทำสงครามขับไล่พวกบุลการ์ เพื่อชิงดินแดนกลับมา แต่ถูกเหล่าขุนนางคัดค้าน เนื่องจากปัญหาการคลัง และกำลังพล ส่งผลให้เกิดการลุกฮือขับไล่จักรพรรดิจัสติเนียนที่ 2 ลงจากบัลลังก์ในปี ค.ศ. 695

จักรพรรดิจัสติเนียนที่ 2 ต้องการลี้ภัยเพื่อไปขอความช่วยเหลือจากพวกคาซาร์ ที่เป็นพันธมิตร แต่ก็เกิดพายุใหญ่ขณะแล่นเรือ จนเข้าสู่ดินแดนบุลการ์ ที่พระองค์ต้องการทวงคืนในตอนแรก แต่แล้วพระองค์กลับตัดสินใจ ที่จะขอความช่วยเหลือจากพวกบุลการ์แทน

พระองค์ลี้ภัยอยู่ในดินแดนบุลการ์นับ 10 ปี ทั้งขอความช่วยเหลือ เพื่อไปทวงบัลลังก์คืน ในปี ค.ศ. 705 พระองค์สามารถกลับไปทวงคืนบัลลังก์แห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ได้สำเร็จ ด้วยความช่วยเหลือของบุลการ์ แต่แล้วในปี ค.ศ. 708 พระองค์ก็ประกาศสงครามกับบุลการ์ เพื่อทวงคืนดินแดนทางตอนเหนืออีกครั้ง

ศึกการทวงดินแดน และจุดจบของจักรพรรดิจัสติเนียนที่ 2

ชนเผ่าบุลการ์

กองทหารม้าของบุลการ์ โจมตีทหารของไบแซนไทน์ ในแนวชายฝั่งจนราบคาบ จนจักรพรรดิจัสติเนียนที่ 2 ต้องหลบหนีออกมา โดยปีถัดมาใน ค.ศ. 709 จักรวรรดิไบแซนไทน์ถูกกองทัพอาหรับแห่งรัฐกาหลิบอุมัยยะห์ (Umayyad Caliphate) เข้าโจมตีจนเสียแคว้นอานาโตเลีย และแคว้นซิลิเซีย

ด้วยความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงติดต่อกันเช่นนี้ ทำให้เหล่าขุนศึกต่างก่อกบฏ เพื่อโค้นล้มจักรพรรดิองค์นี้อีกครั้ง และจักรพรรดิจัสติเนียนที่ 2 ทรงถูกสำเร็จโทษในปี ค.ศ. 711

การร่วมมือขับไล่กองทัพจากอาหรับ

กองทัพบุลการ์ ได้รุกคืบยึดดินแดนของจักรวรรดิไบแซนไทน์มากขึ้น จนจักรพรรดิองค์ใหม่ของไบแซนไทน์คือ ‘ลีโอที่ 3’ (Leo III) ขอเจรจาสงบศึก และขอให้ช่วยส่งกองทัพมาขับไล่พวกอาหรับ ที่เข้าโจมตีจักรวรรดิไบแซนไทน์ และป้อมปราการของบุลการ์

ปี ค.ศ. 718 กองทัพบุลการ์ขับไล่กองทัพอาหรับบนภาคพื้นดินไปได้ ส่วนการสู้รบกับพวกอาหรับทางทะเลนั้น จักรวรรดิไบแซนไทน์ใช้อาวุธชนิดใหม่ที่เรียกว่า ‘ไฟกรีก’ (Greek Fire) เผาทำลายเรือของอาหรับที่มีจำนวนมากกว่า 10 เท่าจนย่อยยับ

สงครามระหว่างชนเผ่าบุลการ์ และจักรวรรดิไบแซนไทน์

หลังจากจบสงครามกับอาหรับ บุลการ์ได้กลับมาส่งกองกำลังเข้ายึดดินแดนของจักรวรรดิไบแซนไทน์ ที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนจักรพรรดิไบแซนไทน์ นิเคโฟรอสที่ 1 (Nikephoros I) ที่มีความปรีชาสามารถ ยกทัพไปทวงคืนดินแดนตอนกลางของบอลข่าน กลับมาจากพวกบุลการ์ได้เป็นจำนวนมาก

ปี ค.ศ. 811 จักรพรรดินิเคโฟรอสที่ 1 ยกทัพเข้าเผาทำลายกรุงปลิสกา (Pliska) เมืองหลวงของบุลการ์จนย่อยยับ ทำให้เหล่าทหารของบุลการ์ที่หนีออกมาได้ต้องการล้างแค้น วางกลยุทธ์ดักซุ่มเพื่อโจมตีกองทัพของนิเคโฟรอสที่ 1 ในระหว่างเดินทางกลับ จนสามารถสังหารจักรพรรดินิเคโฟรอสที่ 1 ลงได้

จากนั้นบุลการ์จึงรวบรวมกำลังพลจากหัวเมืองต่างๆ เพื่อเข้าตีกรุงคอนสแตนติโนเปิล เมืองหลวงของจักรวรรดิไบแซนไทน์ แต่ก็ทำได้เพียงเผาทำลายชุมชนที่อยู่โดยรอบเท่านั้น

จุดจบของชนเผ่าบุลการ์

กองทัพไบแซนไทน์

จักรวรรดิไบแซนไทน์ยังคงพยายามฟื้นตัว และบุกเข้าโจมตีบุลการ์หลายครั้ง กินเวลากว่า 200 ปี จนในปี ค.ศ. 1018 กองทัพไบแซนไทน์มีชัยชนะเหนือกองทัพบุลการ์อย่างเด็ดขาด ในยุทธการไดร์ราชิอุม (Battle of Dyrrhachium)

บทสรุปของชนเผ่าบุลการ์

แม้ว่าบุลการ์จะถูกจักรวรรดิไบแซนไทน์ ทำลายจนย่อยยับ แต่ก็ยังหลงเหลือชาวบุลการ์ ที่ดำรงอยู่ในดินแดนแถบนี้เรื่อยมา จนในที่สุดปี ค.ศ. 1878-1946 ชาวบุลการ์จึงได้สถาปนาประเทศของตนเองในนาม ประเทศบัลแกเรีย เป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ก่อนที่ในปี 1990 ได้เปลี่ยนการปกครองเป็นประชาธิปไตย ในชื่อ สาธารณรัฐบัลแกเรีย (Republic of Bulgaria) ในที่สุด

Facebook
Twitter
Telegram
LinkedIn
ข้อมูลผู้เขียน
Picture of Knowledge Hunter
Knowledge Hunter

แหล่งอ้างอิง